วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 นายปัญจ์ชิเน เชื้อชาญพล นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรจากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุราษฎร์ธานีร่วมกับนายเอกพล ปานกลัด นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการจากสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ติดตามศัตรูพืชในทุเรียนตำบลขุนทะเล อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเป็นช่วงที่ทุเรียนกำลังติดผลอ่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ศัตรูพืชในทุเรียนระบาด โดยเฉพาะหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน โดยมีวีธีป้องกันดังนี้
1.วีธีเขตกรรม กวาดบริเวณโคนให้โล่ง กำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการลดแหล่งหลบซ่อนตัวของตัวหนอนก่อนเข้าดักแด้ ตัวหนอนที่ออกมาจากเมล็ดจะใช้เวลา 7-10 วัน ก่อนที่จะสร้างดักแด้และใช้ดินห่อหุ้มเพื่อพักตัวในดินและฟักเป็นตัวเต็มวัยในฤดูกาลถัดไป
2.วิธีกล -เก็บผลที่โดนทำลายออกนอกแปลงเพื่อตัดวงจรชีวิตของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน
-การใช้วัสดุห่อผลทุเรียน เช่น ถุงกระดาษ ถุงพลาสติกขาวขุ่น ถุงตาข่าย หรือถุง Magik growth เป็นต้น ในระยะพัฒนาผล 3-6 สัปดาห์ และควรพ่นสารกำจัดแมลง เช่น สารสกัดสะเดา เชื้อราบิวเวอเรีย หรือคาร์บาริล ก่อนการห่อผล
3.วิธีฟิสิกส์ -ใช้ควันไฟไล่ตัวเต็มวัยและรบกวนการผสมพันธุ์ในช่วงเวลาค่ำโดยใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดควันและใส่กำมะถันในระยะพัฒนาผล 2 - 6 สัปดาห์ เป็นต้นไป
-ใช้กับดักแสงไฟเพื่อตรวจดูตัวเต็มวัยและกำจัดตัวเต็มวัย ตั้งแต่ 2 - 3 สัปดาห์ เป็นต้นไป โดยเฉพาะหลังฝนตกหนัก
4. ชีววิธี -การใช้เชื้อราเมตาไรเซี่ยม โดยสามารถใช้ได้ 2 วิธี ดังนี้ ใช้เชื้อราเมตาไรเซียมผสมปุ๋ยอินทรีย์หว่านลงดิน โดยใช้เชื้อราเมตาไรเซียมพร้อมใช้ 1 กก. ต่อปุ๋ยอินทรีย์ 50 กก. ผสมให้เข้ากัน หว่านให้ทั่วแปลง หรือใช้เชื้อราเมตาไรเซียมผสมน้ำพ่นลงดิน โดยใช้เชื้อเมตาไรเซียม1 กก. ต่อน้ำ 50 ลิตร ผสมให้เข้ากัน กรองเอาน้ำสปอร์ไปพ่นลงดินให้ทั่วแปลง หรือให้ผ่านระบบน้ำ โดยเริ่มใช้เชื้อราเมตาไรเซียมลงดิน ตั้งแต่ทุเรียนระยะดอกบานถึงระยะพัฒนาผล ทุก 15 วัน ติดต่อกัน 3 ครั้ง หลังจากนั้น ทุก 30 วัน ติดต่อกันอีก 2 ครั้ง เพื่อให้เชื้อราเมตาไรเซียมดำรงชีวิตอยู่ในแปลง และสามารถกำจัดดักแด้ของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่อยู่ในดินได้
- ใช้เชื้อราบิวเวอเรียผสมน้ำพ่นบริเวณผลทุเรียน อัตราการใช้ 1 กก. ต่อน้ำ 40 ลิตร โดยเริ่มพ่นตั้งแต่ทุเรียนอยู่ในระยะหางแย้จนถึงระยะพัฒนาผล พ่นทุก 15 วัน ติดต่อกัน 3 ครั้ง เพื่อป้องกันกำจัดผีเสื้อของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน และกำจัดหนอนที่ฟักออกมาจากไข่ก่อนเจาะเข้าไปในผลทุเรียน
5.ใช้สารสกัดสะเดา อัตรา 60-80 มล. ต่อ น้ำ20 ลิตร
6.การใช้สารเคมี การใช้สารเคมีระยะไข่และระยะหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน
กลุ่ม 1 : ไดอะซินอน 60%EC, คาร์บาริล 85%WP, โพรฟีโนฟอส 50%EC
กลุ่ม 3 : เดลทาเมทริล 3%EC, แลมบ์ดาไซฮาโลทริน 2.5%CS, ไซเปอร์เมทริน 35% w/v EC
กลุ่ม 6 : อีมาเมกติน เบนโซเอต 1.92%W/V EC
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น