หางไหลแดง

 



หางไหลแดง

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Derris elliptica  (Roxb.) Benth.

ชื่อสามัญ :  Tuba root, Derris

วงศ์ :  LEGUMINOSAE - PAPILIONOIDEAE

       ลักษณะทั่วไปทางพฤกษศาสตร์

เถาหรือลำต้นส่วนที่แก่สีน้ำตาลปนแดง แต่จะเริ่มมีสีเขียวเห็นชัดตรงปล้องที่อยู่ก่อนถึงยอด ประมาณ 2-3 ปล้อง ลำต้นโดยทั่วไปมีลักษณะกลม ใบแก่มีสีเขียว ก้านใบแตกจากลำต้นแบบสลับ ใบมีลักษณะคล้ายรูปไข่ค่อนข้างยาว ดอกออกเป็นช่อมีลักษณะคล้ายดอกแคฝรั่ง ดอกตูมมีสีชมพูอมม่วง เมื่อบานเต็มที่จะเป็นสีชมพูอ่อนและค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีขาวตามลำดับ ผลลักษณะเป็นฝักแบน


เมื่อฝักอ่อนมีสีเขียวและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนแดงเมื่อฝักแก่ ภายในฝักมีเมล็ดซึ่งมีลักษณะกลมและแบนเล็กน้อยมีสีน้ำตาลปนแดง เมื่อฝักแก่ฝักจะแยกออกจากกัน เมล็ดจะร่วงหล่นบนพื้นดิน เมื่อมีความชื้นพอเหมาะ เมล็ดก็จะงอกและเจริญเติบโตต่อไป

การขยายพันธุ์หางไหลแดง 

หางไหลแดง สามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ 
    การปักชำกิ่ง และการปลูกด้วยเมล็ด แต่ในปัจจุบันนิยมปลูกด้วยการปักชำกิ่งเป็นส่วนใหญ่ โดยการปลูกด้วยการปักชำกิ่งจะใช้กิ่งพันธุ์ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป ซึ่งควรจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 25 เซนติเมตร จากนั้นตัดในแนวเฉียงให้มีข้อ 2-4 ข้อต่อท่อน และแช่ท่อนพันธุ์ด้วยฮอร์โมนเร่งรากแล้วจึงนำท่อนพันธุ์ไปปักชำตามแปลงดินที่ว่างหรือปักชำใส่ถุงเพาะชำหรือกระถางเพาะชำ ด้วยการใช้วัสดุเพาะชำที่เป็นมูลสัตว์หรือ เศษใบไม้หรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรผสมกับดินในอัตราส่วน ดินต่อวัสดุเพาะชำ 2:1 หรือ 1:1 ก็ได้ โดยควรมีระยะปลูกอย่างน้อย 1x.5 เมตร

    ทั้งนี้ในระหว่างการปักชำ ควรมีการรดน้ำอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง และควรใส่ปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์ต่างๆเป็นประจำทุกๆ 1-2 เดือน เมื่อกิ่งพันธุ์แตกราก และยอดประมาณ 45 วัน จึงย้ายลงปลูกตามจุดที่เหมาะสม ทั้งนี้ ให้พิจารณาจุดที่จะปลูกให้เหมาะสมต่อไป

    สำหรับการเก็บเกี่ยวรากหรือเถาหางไหลแดงเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ควรเก็บเมื่อหางไหลมีอายุอย่างน้อย 2 ปี ด้วยการเก็บเพียงบางส่วนของรากหรือเถา ไม่ควรตัดรากหรือทั้งลำต้น

    สาระสำคัญสารออกฤทธิ์หลัก คือ โรติโนน (Rotenone) นอกจากนี้มีสารอื่นที่พบ คือดีกัวลิน (Degualin) อิลิปโทน (elliptone) สุมาทรอล(sumatrol) และทอกซิคารอล (toxicarol)

ประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัด

    - เป็นสารฆ่าแมลง โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของระบบหายใจของแมลง สารสกัดจากรากสามารถป้องกันกำจัดศัตรูพืชหลายชนิด เช่น :
    - แมลงศัตรูผัก เช่น หนอนใยผัก หนอนกระทู้ผัก เพลี้ยจักจั่นฝ้าย เพลี้ยอ่อนกะหล่ำปลี เพลี้ยอ่อนถั่วฝักยาว หนอนเจาะฝักถั่วฝักยาวหนอนผีเสื้อสีน้ำเงิน
    - แมลงศัตรูข้าว เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หนอนห่อใบข้าว 
    - แมลงศัตรูข้าวโพด เช่น หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด 
    - แมลงศัตรูกล้วยไม้ เช่น เพลี้ยไฟฝ้าย 
    - แมลงศัตรูในโรงเก็บ เช่น ด้วงถั่วเขียว

 

การใช้หางไหลทำได้ดังนี้

นำรากหางไหลมาทุบให้แตก สับเป็นชิ้นเล็กๆ แช่ในน้ำอัตราส่วน ราก 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร แช่ไว้ 48 ชั่วโมง ใช้ไม้กวนเป็นครั้งคราวกรองด้วยผ้าขาวบางนำน้ำที่กรองได้ไปพ่นในแปลงพืชทุก 5-7 วัน

 

 

 

ที่มา: กรมวิชาการเกษตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น