แหนแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Azolla spp.
ชื่อสามัญ : Azolla
ชื่อวงศ์ : Azollaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
แหนแดง
(Azolla)
จัดเป็นพืชน้ำขนาดเล็ก อยู่ในตระกูลเฟิร์นชนิดลอยน้ำ
มีขนาดเล็กเจริญเติบโตลอยอยู่บนผิวน้ำในเขตร้อนและเขตอบอุ่น สำหรับประเทศไทยพบได้ทั่วไปตามคู
คลอง หรือแหล่งน้ำขังตามธรรมชาติต้นแหนแดง ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ คือ ลำต้น (rhizome)
ราก (root) และใบ (lobe) แหนแดงมีกิ่งแยกจากลำต้น ใบของแหนแดง เกิดตามกิ่งเรียงสลับกันไป
ใบแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ใบบน และใบล่าง มีขนาดใกล้เคียงกัน
ใบบนมีคลอโรฟิลล์เป็นองค์ประกอบมากกว่าใบล่างจึงมีสีเขียวเข้มกว่า
ที่กาบใบบนด้านหลังมีโพรงใบและมีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (Blue green
algae) อาศัยอยู่แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (symbiosis) เช่นเดียวกับไรโซเบียมในรากพืชตระกูลถั่ว สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินนี้ สามารถตรึงก๊าซไนโตรเจนจากอากาศแล้วเปลี่ยนเป็นสารประกอบในรูปของแอมโมเนียมให้แหนแดง
เอาไปใช้ประโยชน์ได้ในอัตรา 200-600 กรัมต่อไร่ต่อวัน (Watanabeet
al.,1977) แหนแดงจึงเปรียบเสมือนโรงงานผลิต ปุ๋ยไนโตรเจนทางชีวภาพ
โดยผ่านกระบวนการตรึงไนโตรเจนจากอากาศของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่ชื่อ Anabaena
azollae ซึ่งอาศัยอยู่ในโพรงใบของแหนแดง
ชนิดของแหนแดง
แหนแดงที่พบอยู่ทั่วโลกมีอยู่ด้วยกัน
7ชนิด (species)คือ Azolla nilotica, A.
pinnata, A. caroliniana, A. filiculoides, A. mexicana, A. rubra และ
A. microphyllaในประเทศไทยมักพบแหนแดง 2 สายพันธุ์คือ อะซอลล่า พิน นาต้า (Azolla pinnata) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดกระจายอยู่เป็นบริเวณกว้างของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จีน อินเดีย และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นที่แพร่กระจายอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ
และสายพันธุ์อะซอลล่า ไมโครฟิลล่า (Azolla microphylla) ที่มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่บริเวณเขตร้อนของอเมริกาตั้งแต่ด้านทิศตะวันตก
และทิศเหนือของอเมริกาใต้ ถึงด้านใต้ ของอเมริกาเหนือ และ West Indies ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรนำเข้ามาเพื่อคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์จนได้แหน
แดงพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ มีการเจริญเติบโตได้รวดเร็ว
สามารถตรึงไนโตรเจนได้มากกว่าสายพันธุ์ท้องถิ่น โดยกรมวิชาการเกษตร ได้เริ่มทำการวิจัยค้นคว้าเรื่องแหนแดงมาตั้งแต่
ปี 2520 และได้มีการเก็บรักษาพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง
จนเมื่อประเทศไทยหันมาส่งเสริมเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์
แหนแดงของกรมวิชาการเกษตรจึงได้ถูกนำมาพัฒนาการใช้ประโยชน์เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์
อีกครั้งหนึ่งในปี 2540 เป็นต้นมา
การขยายพันธุ์และเพาะเลี้ยงแหนแดง
แหนแดงมีการขยายพันธุ์ 2 แบบด้วยกัน คือแบบมีเพศ และแบบไม่มีเพศ ซึ่งแบบมีเพศจะเกิดเมื่อแหนแดงอยู่ใน ระยะที่พร้อมจะผลิตสปอร์มีการสร้างเซลล์สืบพันธุ์เป็นเพศผู้และเพศเมียแล้วมาผสมพันธุ์กัน โดยสปอร์จะแก่ในเวลา ประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงเจริญเป็นต้นอ่อนแหนแดงที่มีโครโมโซมเป็น 2n (diploid) ส่วนการขยายพันธุ์แบบไม่มี เพศในธรรมชาติแหนแดงจะมีการเจริญเติบโตและสร้างกิ่งย่อยแตกแขนงออกจากต้นแม่ (rhizome) แบบสลับกัน (alternate) เมื่อต้นแม่แก่จัดจะมีสีเขียวเข้ม แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ซึ่งแสดงว่าต้นแม่อันเดิมนั้นหมดอายุลง กิ่ง แขนงย่อยจะหลุดออกมาเป็นต้นใหม่ที่มีขนาดเล็กและเจริญเติบโตเป็นเป็นต้นใหม่ต่อไป ดังนั้นจึงมีวิธีการที่สามารถ กระตุ้นให้เกิดการแตกตัว และหลุดออกของกิ่งแขนง เช่น การใช้แขนงไม้ตีแหนแดงเบา ๆ จะท้าให้มีการแยกส่วนของ แขนงแตกออกจากต้นเดิม (fragmentation) ท้าให้การขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณได้รวดเร็วยิ่งขึ้น การขยายพันธุ์ทั้ง 2 วิธี สามารถเพิ่มปริมาณของแหนแดงเป็น 2 เท่าจากเดิมในเวลา 3–6 วัน ขึ้นกับความเหมาะสมของสภาพแวดล้อม
การเพาะเลี้ยงแหนแดง
การเพาะเลี้ยงแหนแดงควรมีบ่อเลี้ยงแม่พันธุ์ไว้ต่างหาก เนื่องจากแหนแดงมีไนโตรเจนสูง เนื้อเยื่อของแหนแดง ค่อนข้างอ่อน สัตว์และแมลงหลายชนิดจะเข้าท้าลายได้ง่าย เพราะฉะนั้นจะต้องมีบ่อเพาะเลี้ยงแม่พันธุ์ไว้ หากนำแหนแดง ลงไปใช้ในแปลง หรือถูกแมลงทำลายเสียหายหมด ยังมีแม่พันธุ์แหนแดงที่เลี้ยงไว้ในบ่อใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาไป หาแม่พันธุ์ใหม่ วิธีเพาะเลี้ยงแม่พันธุ์แหนแดง มีดังนี้
1. การเลี้ยงในบ่อซีเมนต์
1.1 เตรียมบ่อปูนเจาะรูสูงจากก้นบ่อ 10 เซนติเมตร เพื่อใช้ควบคุมระดับน้ำ
1.2 ใส่ดินนารองก้นบ่อเพาะเท่ากับระดับด้านล่างของรู เติมปุ๋ยคอก 1 กิโลกรัม และเติมน้ำให้สูงจากระดับ ผิวดินประมาณ 10 เซนติเมตร
1.3 ใส่แหนแดง 50 กรัม ลงในบ่อที่เตรียมไว้เพื่อเป็นแม่พันธุ์ แล้วเขี่ยแหนแดงกระจายให้เสมอทั่วบ่อ
1.4 เมื่อแหนแดงเจริญเติบโตเต็มบ่อจนแน่น ให้ปล่อยน้ำออกจากบ่อ หรือนำแหนแดงไปขยายต่อในที่ที่ ต้องการ
1.5 นำแหนแดงที่ได้จากบ่อแม่พันธุ์ลงปล่อยในบ่อขนาดใหญ่ หรือกระชังเพื่อเพิ่มปริมาณต่อไป การเลี้ยงใน บ่อปูนควรนำมุ้งตาข่ายเขียวมาปิดปากบ่อเพื่อป้องกันแมลงเข้าทำลาย และเป็นการช่วยพรางแสงให้แหนแดงไปพร้อมกัน วิธีนี้จะช่วยให้แหนแดงมีการเจริญเติบโตที่ดียิ่งขึ้น
2. การเพาะเลี้ยงแหนแดงแบบบ่อขุด เนื่องจากแหนแดงไม่ต้องการน้ำลึก จึงควรขุดบ่อให้มีลักษณะเหมือนท้อง นาขังน้ำให้ลึกประมาณ 5-10 เซนติเมตร เรียกว่าเป็นบ่อน้ำตื้น ควรมีการพรางแสง หรือมีร่มไม้ ตัวอย่าง พื้นที่บ่อ ขนาดประมาณ 5 ตารางเมตร ปล่อยแหนแดงลงไปประมาณ 10 กิโลกรัม ใช้เวลา 10-15 วัน แม่พันธุ์แหนแดงจะเจริญเติบโตเต็มบ่อ สามารถตักแหนแดงไปปล่อยลงบ่ออื่น หรือนำไปขยายต่อในพื้นที่ที่ต้องการได้ต่อไป โดยคำนึงถึง ระบบการขยายพันธุ์ของแหนแดงที่จะขยายให้น้ำหนักสดเป็น 2 เท่าตัว ทุก 3-6 วัน ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ดังนั้น จึงสามารถดัดแปลงปริมาณการใส่แหนแดงเริ่มต้นได้ตามความเหมาะสม แหนแดงที่ขยายเติบโตเต็มที่จะได้น้ำหนักแหนแดงสดประมาณ 1.5-2.0 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร
ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของแหนแดง
1. น้ำ
ความลึกที่เหมาะสมควรอยู่ในช่วง 5-15 เซนติเมตร หากมีความลึกมาก ธาตุอาหารจะเจือจาง แหนแดงจะได้รับธาตุอาหารน้อยไม่เจริญเติบโต น้ำมีความลึกน้อยอุณหภูมิน้ำจะสูง
แหนแดงไม่เจริญเติบโต
2. อุณหภูมิเป็นปัจจัยที่ควบคุมการเจริญเติบโตของแหนแดง
อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับแหนแดงทุกชนิดควร อยู่ในช่วง 20-30 องศาเซลเซียส จึงพบว่าในเขตร้อนแหนแดงบางชนิดไม่สามารถเจริญเติบโตได้
จึงมีการคัดเลือกพันธุ์ที่ ทนทานต่ออุณหภูมิสูง เช่น A.
microphylla และ A. nilotica เป็นต้น
3. แสงแดด
แหนแดงเจริญเติบโตได้ดีที่สุด ในที่ที่มีแสงประมาณ 50-75 เปอร์เซ็นต์ของแสงแดด จึงควรมีการ พรางแสงแดดให้เหมาะสม
หรือเลือกพื้นที่เพาะปลูกแหนแดงที่มีร่ม
4. ความชื้นสัมพัทธ์
แหนแดงเป็นพืชที่ชอบความชื้นสูง 85-90 เปอร์เซ็นต์
5. ความเป็นกรด-ด่าง
ควรอยู่ในช่วง 4.5-6.5
6. ลม
แหนแดงไม่ชอบลมแรง เพราะทำให้ถูกพัดพาเกิดการกระจายตัวของแหนแดงและสูญเสียความชื้นได้ง่าย
ยิ่งขึ้น
หรือหากถูกพัดพาไปอยู่ด้านใดด้านหนึ่งของแปลงก็ส่งผลให้ไม่สามารถขยายตัวได้เช่นกัน
7. ธาตุอาหาร
แหนแดงมีความต้องการธาตุอาหารทั้งธาตุหลักและธาตุรองเช่นพืชอื่น
นอกจากนั้นสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่อยู่ร่วมด้วยยังต้องการ Molybdenum,
Cobalt และ Sodium เพื่อใช้ในการตรึงไนโตรเจน ส่วนธาตุที่สำคัญ
ในการเจริญเติบโตของแหนแดงมากที่สุดคือฟอสฟอรัส เพราะมีผลต่ออัตราการเจริญเติบโต
การตรึงไนโตรเจนและ ปริมาณคลอโรฟิลล์ที่ใบแหนแดง
ในแหล่งน้ำที่เพาะเลี้ยงแหนแดงควรมีธาตุอาหารเหล่านี้เพื่อช่วยในการเจริญเติบโตและ
กระบวนการตรึงไนโตรเจน
8. ศัตรูพืช
ควรมีการควบคุมศัตรูพืชในบ่อเพาะเลี้ยงแหนแดงเป็นระยะ เพื่อควบคุมโรค แมลง
และสัตว์ที่กิน แหนแดงเป็นอาหาร เช่น หนอนด้วง หนอนผีเสื้อกลางคืน หนอนไรน้ำ ปลา
เป็ด หอย เป็นต้น
การนำไปใช้ประโยชน์
เกษตรกรที่ปลูกผักหรือทำการเกษตรอินทรีย์
สามารถใช้แหนแดงผสมกับดินปลูก เพื่อเป็นแหล่งธาตุอาหารโดยเฉพาะธาตุไนโตรเจน
ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีได้และแหนแดงสามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์ได้โดยให้สัตว์กิน
ได้ทั้งแบบสดและแห้ง ควบคู่ไปกับอาหารเม็ด หรือผสมกับฟางข้าวหรือหญ้าแห้งก็ได้
เพราะองค์ประกอบของแหนแดงมี โปรตีนสูง ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์มีกรดอะมิโนครบทุกตัว
จึงเหมาะที่จะเป็นอาหารสัตว์โดยเฉพาะในฤดูแล้งขาดแคลน
หญ้าอาหารสัตว์หรือมีไม่เพียงพอ
เกษตรกรสามารถใช้แหนแดงสดหรือแห้งผสมกับฟางแห้งหรือหญ้าแห้งสัตว์จะได้อาหารที่มีคุณภาพดี
ที่มา :
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น