วันจันทร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2566

ข่าวเตือนภัยการระบาด หนอนใยผัก

หนอนใยผัก (Diamondback moth)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Plutella xylostella L.

วงศ์ : Yponomeutidae 

อันดับ : Lepidoptera


รูปร่างลักษณะ และวงจรชีวิต

ตัวเต็มวัยของหนอนใยผัก เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก สีเทา ส่วนหลังมีแถบสีเหลืองส้ม หนวดเป็นแบบเส้นด้าย ตัวเต็มวัยมีอายุประมาณ 5 – 7 วัน สามารถวางไข่ได้หลายครั้ง เพศเมียวางไข่เป็นฟองเดียวๆ หรือเป็นกลุ่มเล็กๆ เรียงติดกันประมาณ 20 – 80 ฟอง โดยวางไข่ทั้งบนใบและใต้ใบพืช สามารถวางไข่ได้ 40 - 400 ฟอง ไข่มีลักษณะค่อนข้างแบนและยาวรีมีสีเหลืองอ่อนเป็นมัน และจะเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อใกล้ฟักออกเป็นตัวหนอน ระยะไข่ประมาณ 3 – 4 วันหนอนเมื่อฟักออกมาจากไข่ใหม่ ๆ จะอาศัยกัดกินอยู่ในใบ หลังจากนั้นจะออกมากัดกินภายนอกทำให้ผักเป็นรูพรุน ตัวหนอนมีลักษณะลำตัวยาวหัวแหลมท้ายแหลมส่วนท้ายมีปุ่มยื่นออกเป็น 2 แฉก ตัวหนอนมีสีเขียวอ่อน หรือเทาอ่อนหรือเขียวปนเหลือง เมื่อถูกตัวจะดิ้นอย่างรุนแรงและทิ้งตัวลงดินโดยการชักใยหนอนเมื่อโตเต็มที มีขนาด 1 ซม. มี 4 วัย หนอนจะเข้าดักแด้ตามใบพืชโดยมีใยปกคลุม ดักแด้หนอนใยผักในระยะแรกๆ จะมีสีเขียวและจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเทาเมื่อใกล้ออกเป็นตัวเต็มวัย ดักแด้มีขนาด 1 ซม.


ที่มาภาพ : Insect pests of vegetable brassicas in Western Australia

ลักษณะการทำลาย

อาการพืชที่ถูกทำลาย หนอนที่มีขนาดเล็กจะเจาะกินอยู่ภายในผิวด้านล่างของใบผักจนหมดเหลือแต่ผิวใบ เมื่อตัวหนอนมีขนาดใหญ่ขึ้นจะออกมากัดกินใบเป็นรูพรุนก่อให้เกิดความเสียหายมาก ทั้งนี้เนื่องจากหนอนชนิดนี้มีวงจรชีวิตสั้น มีการแพร่พันธุ์และขยายพันธุ์รวดเร็ว และมีการพัฒนาการวางไข่ได้เร็ว คือหลังออกจากดักแด้ภายใน 1 วัน สามารถวางไข่ได้ทันทีและวางไข่ได้ตลอดชีวิต

การป้องกันกำจัด

1.         1.ใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลือง 80 กับดักต่อไร่ ดักจับตัวเต็มวัย

2.    2.ใช้กับดักแสงไฟ หลอดสีน้ำเงิน 20 วัตต์ ดักจับตัวเต็มวัย

3.    3. ปลูกในโรงเรือนตาข่ายไนล่อนขนาด 16 mesh (256 ช่อง/ตารางนิ้ว)

4.    4.ควบคุมโดยชีววิธี ใช้แตนเบียนไข่ ทริคโคแกรมม่า อัตรา 60,000 ตัว/ไร่ ทุกๆ 10 วัน ทำลายระยะไข่ หรือใช้มวนพิฆาต/มวนเพชฌฆาต 100 ตัว/ไร่ ใช้แบคทีเรียบีที อัตรา 100-200 มล./ น้ำ 20 ลิตร ทุกๆ 5 วัน

5.    5.สารเคมีที่แนะนำให้ใช้ ดังนี้

กลุ่ม 5 สไปนีโทแรม 12% SC, กลุ่ม 13 คลอร์ฟีนาเพอร์ 10 % SC, กลุ่ม 21 โทลเฟนไพแรด 16% EC, กลุ่ม 22A อินดอกซาคาร์บ 15% EC   ในอัตรา 40 – 60  มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบการระบาดของหนอนใยผักทุก 5 วันติดต่อกัน 2 ครั้ง ควรสลับกลุ่มกลไกการออกฤทธิ์ทุก 14 วัน

ลิ้ง (คลิก)

ที่มา :

สุภราดา และคณะ 2563. คำแนะนำการป้องกันกำจัดแมลง-สัตว์ศัตรูพืช อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยจากงานวิจัย.

      กรมวิชาการเกษตร. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.หน้า 119.

กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น