วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2565

โรคใบจุดสาหร่ายปาล์มน้ำมัน

โรคใบจุดสาหร่าย 



เชื้อสาเหตุ Phycopeltis sp. 

    เป็นจุดเล็กหรือเป็นแผ่นขนาดใหญ่ (หากลุกลาม) บนใบ โดยจุดเล็กๆ ดังกล่าวจะขยายขนาดใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูงเป็นระยะเวลาติดต่อกัน  สาหร่ายดังกล่าวจะปกคลุมบนแผ่นใบย่อยปาล์มน้ำมัน ทำให้พื้นที่สังเคราะห์แสงของใบลดลง แต่ไม่ทำอันตรายแผ่นใบเหมือนราสนิม สำหรับปาล์มน้ำมันหรือพืชอื่นๆ ที่มีทรงพุ่มแน่นทึบ มีความชื้นในทรงพุ่มสูง ได้รับแสงแดดไม่ทั่วถึง จะพบใบจุดสาหร่ายเกิดได้โดยง่าย จากสปอร์ของสาหร่ายที่แพร่ระบาดไปยังใบอื่นๆ 

    การระบาดมากช่วงฤดูฝน เนื่องจากสปอร์ของสาหร่ายสามารถแพร่กระจายได้ทั้งทางลมและฝน

การป้องกันและกำจัด 

  1. ติดตามสถานการณ์โรคจุดสาหร่ายในช่วงฝน โดยสำรวจสัปดาห์ละครั้ง 
  2. รวบรวมใบที่เป็นโรคไปเผาทำลาย 
  3. หากพบอาการของโรคเพียงเล็กน้อย รีบจัดการตัดส่วนของใบย่อยดังกล่าวไปเผาทำลาย เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ของสปอร์สาหร่าย 
  4. หากทางใบแน่นมากไป พยายามตัดแต่งทางใบแห้งออก เพื่อให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก มีลมผ่าน เพื่อลดความชื้นในทรงพุ่ม 
  5. หากแผ่นใบย่อยของทางใบปาล์มน้ำมัน่โดยเฉพาะทางใบด้านล่าง ถูกปกคลุมด้วยสาหร่ายกว่าร้อยละ 30 แนะนำให้ใช้วิธีกล คือกำจัดทางใบดังกล่าวออก เพื่อลดการแพร่กระจาย 

***สำหรับคำแนะนำการใช้สารเคมี "คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร" ฉีดพ่นที่แผ่นใบ เป็นคำแนะนำเดียวกับการกำจัดโรคราสนิมในพืชอื่น และยังไม่มีงานวิจัยที่ใช้กับปาล์มน้ำมัน ซึ่งอาจมีผลกระทบกับใบปาล์มน้ำมันได้ ดังนั้นหากการแพร่กระจายของจุดสาหร่ายไม่รุนแรงมากนัก ขอให้ใช้วิธีกล จัดการตัดแผ่นใบย่อยที่มีจุดสาหร่ายออกมากำจัดเพื่อลดการแพร่ระบาด หากระบาดรุนแรงขอให้เกษตรกรลองทดลองใช้กับบางทางใบของปาล์มน้ำมันบางต้น เพื่อศึกษาผลของสารเคมีดังกล่าวก่อน

เอกสารอ้างอิง : ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี.











วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2565

วิทยากรบรรยายศัตรูพืชในนาข้าว และติดตามการระบาดศัตรูพืชในปาล์มน้ำมันและนาข้าว

วันที่ 28 มิถุนายน 2565 นางสาวนิสิตา เพชรา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ และนางสาวเฑียรมณี พรัมรัตนพงศ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอไชยา เป็นวิทยากรในหัวข้อศัตรูพืชในนาข้าว พร้อมทั้งสาธิตการผลิตขยายเชื้อราบิวเวอร์เรีย และการใช้ เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจ สามารถจัดการศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ร่วมติดตามการระบาดศัตรูพืชในปาล์มน้ำและในนาข้าว ณ ศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา ตำบลโมถ่าย อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี


















ศทอ.สฎ.เข้าร่วมประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับเขตภาคใต้

วันที่ 27-28 มิถุนายน 2565 นายณัทธร รักษ์สังข์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเกษตรจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการระดับเขต ครั้งที่ 3 ประจำปีงบประมาณ 2565 ณ ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดระนอง โดยมีนายอนุชา ยาอีด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุม ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เร่งรัดการเบิกจ่าย รวมทั้งปัญหาอุปสรรคที่ได้ร่วมกันแก้ไขให้เป็นตามแนวทางการดำเนินงานของกรมส่งเสริมการเกษตรและนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในโครงการสำคัญ เช่นการบริหารจัดการผลไม้ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในระดับไร่นา ไม้ผลอัตลักษณ์ การประชุมครั้งนี้มีเกษตรจังหวัด 14 จังหวัด และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการในภาคใต้ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวขัอง รวม 30 คน

ในโอกาสนี้ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามการระบาดของศัตรูพืช และการติดตั้งระบบน้ำอัจฉริยะ ในสวนทุเรียน และปาล์มน้ำมัน ของเกษตรกร ในพื้นที่อำเภอเมืองระนอง อีกด้วย

วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ร่วมติดตามสถานการ์ระบาดศัตรูพืชและการป้องกันกำจัดศัตรูพืช

วันที่ 27 มิถุนายน 2565 นางสาวนิสิตา เพชรา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ  และนายสุทธิศักดิ์ ทองโอ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกับนางสาวนิพวรรณ หมีทอง ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสงขลา เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  เจ้าหน้าที่อารักขาพืชสำนักงานจังหวัดนครศรีธรรมราช เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอบางขัน เจ้าหน้าที่อารักขาพืชสำนักงานจังหวัดกระบี่ และเจ้าหน้าศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดกระบี่(พืชสวน) ร่วมติดตามสถานการ์ระบาดศัตรูพืชและการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งมีการทดลองใช้วิธีการห่อผลทุเรียนในการควบคุมหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ร่วมกันศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสงขลาและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อลดต้นทุนการใช้สารเคมี และทำการเกษตรอย่างหยั่งยืน ณ แปลงเรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมังคุด หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านลำนาว อำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช และแปลงทุเรียน ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดกระบี่













วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2565

เข้าร่วมฝึกอบรมโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

วันที่ 24 มิถุนายน 2565 นายณัทธร​ รักษ์สังข์​ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช​ จังหวัดสุราษฎร์ธานี​  นางสาวนิสิตา เพชรา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฎิบัติการ นายปัญจ์ชิเน เชื้อชาญพล นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร นางสาวเฑียรมณี พรัมรัตนพงศ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร และเจ้าหน้าที่ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอปากพนัง  ฝึกอบรมโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กิจกรรมส่งเสริมการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน การเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืช การใช้เชื้อจุลินทรีย์ในการป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช สาธิตการสกัดสารจากเมล็ดสะเดา และสนับสนุนอุปกรณ์ในการผลิต เพื่อนำไปสู่การเลือกวิธีการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ณ ศาลาอเนกประสงค์  ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง  จังหวัดนครศรีธรรมราช






















วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ติดตามการระบาดแมลงดำหนามมะพร้าว

วันที่ 23 มิถุนายน 2565 นางสาวนิสิตา เพชรา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฎิบัติการ นายปัญจ์ชิเน เชื้อชาญพล นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร นางสาวเฑียรมณี พรัมรัตนพงศ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร และเจ้าหน้าที่ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอเชียรใหญ่ ลงพื้นที่ติดตามการระบาดของศัตรูมะพร้าวของ นายชนะทรัพย์ นุนสังข์ ตําบลไสหมาก อําเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช จากการลงสำรวจพบว่ามีการเข้าทำลายของแมลงดำหนามมะพร้าว โดยแมลงดำหนามมะพร้าวนั่น ตัวหนอนและตัวเต็มวัยจะซ่อนอยู่กับยอดอ่อนที่เริ่มคลี่ หนอนวัย 1 จะแทะผิวใบด้านในที่ยังพับติดกัน เมื่อใบคลีออกทำให้ใบอ่อนมีรอยไหม้ ตัวเต็มวัยจะกัดทำลายและวางไข่ที่ใบอ่อน ทำให้ปลายใบอ่อนม้วนเป็นที่อาศัยของหนอนอยู่ภายใน ทางศูนย์ได้ให้คำแนะนำโดยการตัดยอดอ่อนที่ยังไม่คลี่ทิ้งแล้วเผาทำลาย เพื่อตัดวงจรชีวิตของแมลงดำหนามมะพร้าว พร้อมทั้งได้สนับสนุนแมลงหางหนีบและเชื้อราเมธาไรเซียม และแนะนำสารเคมี cartap hydrochloride 4% GR อัตรา 30 กรัมต่อต้น ใส่เป็นถุงสีชาติดไว้ที่ยอดอ่อน สำหรับต้นที่สูง 1 เมตรขึ้นไปเพื่อป้องกันการทำลายแมลงดำหนามมะพร้าวได้นาน 1 เดือน ส่วนต้นที่สูง 12 เมตรขึ้นไปได้แนะนำ สารอิมาเม็กตินเบนโซเอต อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อต้น โดยการเจาะมะพร้าวสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร จำนวน 2 รู อยู่ด้านตรงข้ามกัน ลึก 10 เซนติเมตร ใส่สารรูละ 25 มิลลิลิตร แล้วใช้ดินน้ำมันอุดรูทันที วิธีนี้จะป้องกันกำจัดแมลงดำหนามมะพร้าวได้ไม่น้อยกว่า 2 เดือน (วิธีการนี้สามารถป้องกันกำจัดได้ทั้งด้วงแรดมะพร้าว ด้วงงวงมะพร้าว แมลงดำหนามมะพร้าว และหนอนหัวดำมะพร้าว)






ติดตามการระบาดของเชื้อการโนเดอร์มาในปาล์มน้ำมัน

 

วันที่ 23 มิถุนายน 2565 นางสาวนิสิตา เพชรา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฎิบัติการ นายปัญจ์ชิเน เชื้อชาญพล นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร นางสาวเฑียรมณี พรัมรัตนพงศ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร และเจ้าหน้าที่ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอหัวไทร ติดตามการระบาดของเชื้อการโนเดอร์มาที่ระบาดในแปลงน้ำมัน โดยพบว่าต้นปาล์มน้ำมันมีการระบาดจากโรคโคนลำต้นเน่าปาล์มน้ำมัน ซึ่งมีสาเหตุจากเชื้อกาโนเดอร์มาทำให้ต้นปาล์มน้ำมันที่เป็นโรค ใบด้านล่างจะเหลือง ใบไม่คลี่ ยอดอ่อนพับตัวลงและเริ่มเน่า ต่อมาต้นจะโตช้า รากบริเวณโคนต้น จะเริ่มแห้งและเน่า และสุดท้ายมีดอกเห็ดกาโนเดอร์มา (ลักษณะคล้ายเห็ดหลินจือ) งอกออกมาจากโคนต้น โดยหลังจากแสดงอาการแล้ว ปาล์มเล็กจะตายภายใน 6-12 เดือน และ ปาล์มใหญ่จะยืนต้นตายภายใน 2 – 3 ปี ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีการติดเชื้อทั่วแปลงดังนั่นจึงต้องโค่นและเผาทำลายเพื่อตัดวงจรของโรค สำหรับต้นที่ยังไม่เป็นโรคให้ฉีดพ่นเชื้อราไตรโคเดอร์มาบริเวณกาบทางใบ และโคนต้น อัตรา 1 กิโลกรัม/น้ำ 100 ลิตรทุกๆ 1-2 เดือน และใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มาอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ณ แปลงนายดวน หนูคง บ้านเลขที่ 21 ตำบลแหลม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และ แปลงของนางกรรณติศา รัตนกระจ่าง หมู่ 5 ตำบลแหลม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช