วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2565

เตือนภัยการระบาด ด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นทุเรียน

 ด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นทุเรียน

ลักษณะการทำลาย

    ด้วงหนวดยาวตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่โดยฝังไว้ใต้เปลือกต้นทุเรียน หนอนจะกัดกินชอนไชไปตามเปลือไม้ด้านใน ทำให้เกิดยางไหล หนอนอาจควั่นเปลือกจนรอบลำต้น ทำให้ท่อน้ำท่ออาหารถูกตัดทำลายเป็นเหตุให้ต้นทุเรียนทรุดโทรม ใบเหลืองร่วง และตายได้ แหล่งปลูกทุเรียนทั่ประเทศไทยส่วนใหญ่พบว่าด้วงหนวดยาวทำลายทุเรียนพันธุ์หมอนทอง การระบาดค่อยๆสะสมความรุนแรง เนื่องจากเป็นแมลงกลางคืน พฤติกรรมต่างๆจึงมักเกิดในช่วงกลางคืน เกษตรกรจึงไม่ทราบว่ามีการระบาดของด้วงหนวดยาว

การป้องกันกำจัด

1.การกำจัดด้วงหนวดยาวโดยวิธีเขตกรรม ทำลายแหล่งขยายพันธุ์ โดยตัดกิ่งและต้นทุเรียนที่ถูกทำลายรุนแรงทิ้ง

2.การกำจัดด้วงหนวดยาวโดยวิธีกล

-การใช้ตาข่ายดักปลาตาถี่พันรอบโคนต้นเพื่อดักจับตัวเต็มวัย

-การใช้ไฟส่องจับตัวเต็มวัยในเวลากลางคืนช่วง 20:00 น.ถึงช่วงเช้ามืด

-หมั่นสำรวจรอบลำต้นต้นทุเรียน สังเกตรอยแผลที่ด้วงวางไข่ ถ้าพบขุยและรอยทำลายให้ใช้มีดถาก ทำลายไข่ทิ้ง และจับตัวหนอนทำลาย

3.การใช้สารเคมี

-หากด้วงหนวดยาวเจาะเข้าลำต้นไปแล้ว ให้ฉีดสารฆ่าแมลงที่มีคุณสมบัติเป็นไอระเหยสำหรับไปฆ่าหนอนและดักแด้ที่อยู่ในรูภายในต้น สารเคมีที่มีคุณสมบัติเป็นไอระเหย ส่วนใหญ่จะเป็นสารกลุ่มที่ 1 กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ได้แก่ ไดอะซินอน พิริมิฟอสเมทิล หรือไดคลอร์วอส โดยใช้กระบอกฉีดยาดูดสารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งแบบเข้มข้น 1 - 2 ซีซีต่อรู โดยไม่ต้องผสมน้ำเข้าไปในรูเจาะของด้วงแล้วใช้ดินน้ำมันหรืออุดด้วยดินเหนียว

-กรณีในแหล่งด้วงหนวดยาวระบาดรุนแรง จำเป็นต้องพ่นสารเคมี ให้พ่นสารเคมีกำจัดแมลงสำหรับให้ทั่วบริเวณลำต้นและกิ่งขนาดใหญ่ พ่นติดต่อกัน 2 ครั้ง ห่างกัน 2 สัปดาห์ สารเคมีที่มีประสิทธิภาพใช้พ่นลำต้นป้องกันด้วงหนวดยาวได้แก่ อิมิดาโคพริด 10 % SL อัตรา 30 มิลลิลิตร หรือ อะซีทามิพริด 20% SP อัตรา 30 มิลลิลิตร หรือ ไทอะมีทอกแซม 25% WG อัตรา 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

ดาวโหลด(ที่นี่)

เอกสารอ้างอิง

สุเทพ สหายา. 2561. รู้ลึกเรื่อง สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงและไรศัตรูพืช. หจก.เฟรม-อัพดีไซน์. กรุงเทพฯ. 108 หน้า

พิสุทธิ์ เอกอำนวย. 2564. ทุเรียน ราชาผลไม้. พิมพ์ครั้งที่1. สายธุรกิจโรงพิมพ์. หน้า 71

  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น