วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2564

การผลิตขยายเชื้อราบิวเวอร์เรียพร้อมใช้

วันที่ 29 ตุลาคม 2564 นางสาวนิสิตา เพชรา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ และนายภาณุรักษ์ ประทับกอง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร เจ้าหน้าที่ฝ่ายชีววิธี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ ดำเนินการผลิตขยายเชื้อราบิวเวอร์เรียพร้อมใช้ พบว่า ได้เชื้อที่มีการปนเปื้อนจากเชื้อแบคทีเรียบ้าง เชื้อเจริญได้ไม่ดี มีสปอร์น้อย และบางส่วนเชื้อเจริญเป็นเส้นใยไม่เกิดสปอร์ ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพในการนำไปใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืช จึงวิเคราะห์หาปัจจัยสาเหตุที่ก่อให้เกิดผลดังกล่าว ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลคือความชื้นในข้าวที่ใช้ในการผลิตเชื้อมีมากเกินไป และปัจจัยของสภาพแวดล้อมภายในห้องบ่มเนื่องจากการย้ายสถานที่ผลิต ทำให้ส่งผลต่อการเจริญของเชื้อ ดังนั้นจึงได้ปรับเปลี่ยนระยะเวลาที่แช่ข้าวสารโดยจับเวลาตั้งแต่การล้างข้าวสาร และแช่ไว้เป็นเวลา 10 นาที แล้วตั้งให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นจึงนำเข้าสู่กระบวนการผลิตต่อไป บ่มเป็นเวลา 7 วัน จึงทำการเช็คผลต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ประชุมเสนอแนวคิดในการดำเนินงานพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่อารักขาพืช

วันที่ 28 ตุลาคม 2564 นายจิรยุทธ จิตราภิรมย์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ นางสาวนิสิตา เพชรา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการนายสุทธิศักดิ์ ทองโอ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ และนายภาณุรักษ์ ประทับกอง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าร่วมประชุมเสนอแนวคิดในการดำเนินงานพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่อารักขาพืชให้เป็นหมอพืชระดับพื้นที่และขับเคลื่อนการดำเนินงานการให้บริการคลินิกพืชระดับพื้นที่ ผ่านระบบ Zoom Meeting​ เพื่อเตรียมการสำหรับเปิดให้บริการเกษตรกรในการตรวจวิเคราะห์อาการผิดปกติของพืชผ่านการให้บริการในรูปแบบคลินิกพืช​ ณ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช​ สำนักงานเกษตร​จังหวัด​และสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุราษฎร์ธานี


ติดตามการระบาดศัตรูมะพร้าว

วันที่ 28 ตุลาคม  2564 นายปัญจ์ชิเน เชื้อชาญพล นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร และเจ้าหน้าที่ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ติดตามการระบาดของแมลงดำหนามมะพร้าวของนายธีรวัตร ฉิมประสงค์  ตำบลสมอทอง  อำเภอท่าชนะ  จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทางศูนย์ได้ให้คำแนะนำโดยการตัดยอดอ่อนที่ยังไม่คลี่ทิ้งแล้วทำลาย เพื่อตัดวงจรชีวิตของแมลงดำหนามมะพร้าว พร้อมทั้งได้สนับสนุนแมลงหางหนีบเพื่อปล่อยในแปลงในการกำจัดแมลงดำหนาม และยังได้แนะนำสารเคมี cartap hydrochloride 4 % GR อัตรา 30 กรัมต่อต้น ใส่เป็นถุงสีชาติดไว้ที่ยอดอ่อน สำหรับต้นที่สูง 1 เมตรขึ้นไป ส่วนต้นที่สูง 12 เมตรขึ้นไปได้แนะนำ สารอิมาเม็กตินเบนโซเอต อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น โดยการเจาะมะพร้าวสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร จำนวน 2 รู อยู่ด้านตรงข้ามกัน ลึก 10 เซนติเมตร ใส่สารรูละ 15 มิลลิลิตร แล้วใช้ดินน้ำมันอุดรูทันที

จัดทำแปลงปลูกพืชสมุนไพร(ตะใคร้หอม)​

วันที่ 28 ตุลาคม 2564 นายจิรยุทธ จิตราภิรมย์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ นางสาวนิสิตา เพชรา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการและเจ้าหน้าที่ของศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกันจัดทำแปลงปลูกพืชสมุนไพร(ตะใคร้หอม)​เพื่อเป็นจุดเรียนรู้และเป็นแปลงขยายพันธุ์เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรนำไปขยายพันธุ์​ต่อไป​ ประโยชน์ของตะใคร้หอมจะมีน้ำมันหอมระเหยชนิด Citronella, Citronellol และ Geraniol เป็นส่วนประกอบ ช่วยไล่ยุงลายได้​ นอกจากนี้ยังสมารถนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์ตะไคร้หอมเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่มีน้ำมันหอมระเหยสูงกว่าตะไคร้บ้าน พบในส่วนใบ กาบใบ และลำต้น มีสรรพคุณทางยา ใช้แก้ริดสีดวงในปาก ปากแตกระแหง แผลในปาก ขับลมในกระเพราะ ลำไส้ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ

ร่วมงานสัมมนาวิชาการ “Disruptive Change: เกษตรไทยต้องเปลี่ยนโฉม" ผ่านระบบออนไลน์



วันที่ 28 ตุลาคม 2564 นายณัทธร รักษสังข์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าร่วมงานสัมมนาวิชาการ “Disruptive Change: เกษตรไทยต้องเปลี่ยนโฉม" ผ่านระบบออนไลน์โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกณ์  เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ "นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์" การบรรยายพิเศษ "การปรับตัวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์" โดย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และการเสวนาหัวข้อ "Disruptive Change: เกษตรไทยต้องเปลี่ยนโฉม" โดยนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา นายกสมาคมเศรษฐศาสตร์เกษตรฯ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษธูศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณผกากาญจน์ ภู่พุดตาล เกษตรกรผู้ปลูกข้าว คุณสมิต ทวีเลิศนิธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด ดำเนินรายการโดย นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

***ติดตามชมรายละเอียดได้ที่นี่***

วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ประชุมชี้แจงการดำเนินงานส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน

วันที่ 27 ตุลาคม 2564 นายณัทธร รักษ์สังข์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตร
ด้านอารักขาพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานี และนายจิรยุทธ จิตราภิรมย์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ เข้าร่วมประชุมชี้แจงการดำเนินงานส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ผ่านระบบ Zoom Meeting​ เพื่อชี้แจงโครงการ ซึ่งศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานีจะดำเนินกิจกรรมพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยจะจัดให้มีฐานเรียนรู้ต่างๆด้านอารักขาพืช​ แมลงเศรษฐกิจ​พืชสมุนไพร​ ในโครงการดังกล่าวให้เกษตรกรและบุคคลทั่วไปเข้ามาศึกษาเรียนรู้และพักท่องเที่ยวไปในเวลาเดียวกัน ณ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ฉีดพ่นสารคลอฟีนาเพอร์เพื่อป้องกันกำจัดเพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยไฟ เพลี้ยจักจั่นฝอย หนอนคืบกินใบ ในสวนทุเรียน

 วันที่ 26 ตุลาคม 2564 นายจิรยุทธ จิตราภิรมย์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติกา นายสุทธิศักดิ์ ทองโอ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฎิบัติการ นายภาณุรักษ์ ประทับกอง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร และนายปัญจ์ชิเน เชื้อชาญพล นักวิชาส่งเสริมการเกษตร ได้ทำการฉีดพ่นสารสารคลอฟีนาเพอร์เพื่อป้องกันกำจัดเพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยไฟ เพลี้ยจักจั่นฝอย หนอนคืบกินใบ ในสวนทุเรียนซึ่งเป็นแปลงพยากรณ์การระบาดศัตรูพืชของศูนย์ฯโดยใช้อัตราส่วน 250 มิลลิลิตรต่อน้ำ 200ลิตร ผสมสารจับใบตามคำแนะนำในฉลาก





ลงพื้นที่แนะนำแก้ปัญหาโรคราคาสีชมพูในมังคุด


วันที่ 26 ตุลาคม 2564 นายณัทธร รักษ์สังข์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยนายสมชาย พรุเพชรแก้ว เกษตรอำเภอร่อนพิบูลย์  และนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมลงพื้นที่แนะนำเกษตรกรในการแก้ไขปัญหาโรคราสีชมพูในมังคุด จำนวน 6 ไร่ 2 งาน ของนายบุญฤทธิ์ กวีพันธ์ เกษตรกร หมู่ 1 ตำบลเสาธง อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งประสบปัญหาโรคราสีชมพูระบาด ทำให้สภาพต้นมังคุดกิ่งแห้งตาย สภาพต้นทรุดโทรมมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปลูก สืบเนื่องจากพื้นที่ปลูกเดิมเป็นที่นา พื้นที่ต่ำไม่มีการยกร่อง ทำให้มีน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน การระบายน้ำทำได้ช้าเพราะพื้นที่รอบนอกมีการถมพื้นที่ทำถนนและหมู่บ้าน ในเบื้องต้นเกษตรอำเภอร่อนพิบูลย์ได้มอบให้เจ้าหน้าที่ลงให้คำแนะนำให้เกษตรกรผลิตและใช้เชื้อราโตรโครเดอร์มาอยู่แล้ว จึงได้แนะนำเพิ่มเติมให้เกษตรกรตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคออกเผาทำลาย และขุดคูระบายน้ำในสวนลึกอย่างน้อย 30 เซนติเมตร กว้าง 40-50 เซนติเมตร เพื่อลดระดับน้ำและความชื้นในดิน ที่แม้จะฝนไม่ตกสภาพพื้นที่ราบเป็นผืนเดียวกันระดับน้ำใต้ดินจะสูง ทั้งนี้เกษตรกรจะรีบดำเนินการตามที่ได้ให้คำแนะนำไป พร้อมกันนี้ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้มอบเชื้อราสดพร้อมใช้ จำนวน 20 กิโลกรัม เพื่อควบคุมการระบาดของโรคต่อไป

วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2564

การประชุมเจ้าหน้าที่ประจำเดือนตุลาคม

วันที่ 25 ตุลาคม 2564 นายณัทธร รักษ์สังข์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ประชุมเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯประจำเดือนตุลาคม เพื่อติดตามและสรุปผลการปฏิบัติงานในเดือนที่ผ่านมา  มีประเด็นหารือเรื่องการวางแผนการปฏิบัติงานในปีงบประมาณ พ.ศ.2565  การรับผิดชอบงานของเจ้าหน้าที่ การแบ่งพื้นที่รับผิดชอบดูแล และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานสร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกรมากยิ่งขึ้นผ่านช่องทางต่างๆ  ณ ห้องประชุมศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานี

วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ร่วมกิจกรรมวันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ. 2564

วันที่ 21 ตุลาคม 2564 นายณัทธร รักษ์สังข์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานีและเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการได้ร่วมทำกิจกรรมวันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ. 2564  โดยวันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ ถือกำเนิดขึ้นจากแรงปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทรงให้ความสำคัญกับการบำรุงรักษาต้นไม้และต้องการให้มีการฟื้นฟูความสมดุลของธรรมชาติ ต่อมาคณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2533 กำหนดให้วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปีเป็น "วันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ" ซึ่งกิจกรรมในวันนี้มีการตัดแต่งกิ่งทรงพุ่มของต้นมะฮอกกานี หน้าตึกแมลง และแต่งทรงพุ่มไม้ดอกไม้ประดับ หน้าอาคารอำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุราษฎร์ธานี 

ในวันเดียวกันนี้ได้ร่วมชมกิจกรรมวันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครบรอบ 54 ปี ซึ่งได้ถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์จากกรมส่งเสริมการเกษตร อีกด้วย

วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ฉีดพ่นสารสกัดสะเดาเพื่อป้องกันกำจัดเพลี้ยไก่แจ้ในสวนทุเรียน

วันที่ 20 ตุลาคม 2564 นายสุทธิศักดิ์ ทองโอ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฎิบัติการ นายปัญจ์ชิเน เชื้อชาญพล นักวิชาส่งเสริมการเกษตรและเจ้าหน้าที่ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ทำการฉีดพ่นสารสกัดสะเดาเพื่อป้องกันกำจัดเพลี้ยไก่แจ้ในสวนทุเรียนซึ่งเป็นแปลงพยากรณ์การระบาดศัตรูพืชของศูนย์ฯโดยใช้อัตราส่วน 60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบตามคำแนะนำในฉลาก


วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2564

จัดเตรียมหัวเชื้อจุลินทรีย์ขยาย 

วันที่ 19 ตุลาคม 2564 นางสาวนิสิตา เพชรา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ และนายภาณุรักษ์ ประทับกอง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร เจ้าหน้าที่ฝ่ายชีววิธี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ ร่วมกันจัดเตรียมหัวเชื้อจุลินทรีย์ขยาย จำนวน 370 ขวด โดยแบ่งเป็นหัวเชื้อไตรโคเดอร์มา 180 ขวด หัวเชื้อบิวเวอร์เรีย 130 ขวด และหัวเชื้อเมตาไรเซี่ยม 60 ขวด บรรจุเพื่อทำการจัดส่งให้แก่สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช และสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ ตามแผนรายงานความต้องการโครงการสนับสนุนการผลิตขยายชีวภัณฑ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการศัตรูพืชในชุมชน ที่ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้รับการแจ้งประสานไว้ เพื่อใช้เป็นปัจจัยควบคุมการระบาดของศัตรูพืชในพื้นที่ต่อไป