วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2565

เตือนการระบาดโรคขอบใบทองหรือเน่าดำในกวางตุ้งและคะน้า

โรคขอบใบทองหรือเน่าดำ (bacterial leaf blight black rot disease)


สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย 𝑋𝑎𝑛𝑡ℎ𝑜𝑚𝑜𝑛𝑎𝑠 𝑐𝑎𝑚𝑝𝑒𝑠𝑡𝑟𝑖𝑠 pv. 𝑐𝑎𝑚𝑝𝑒𝑠𝑡𝑟𝑖𝑠
พืชเริ่มแสดงอาการโรคให้เห็นในส่วนใบโดยใบจะเริ่มเหลืองจากขอบใบ แล้วลามลึกเข้ามาในเนื้อใบจนจรดแกนกลางของใบเป็นรูปตัววี (V) เส้นใบบริเวณนี้จะมีสีน้ำตาลดำต่อมาจะเกิดอาการแห้งจากขอบใบ ใบเหี่ยวเฉาและตกลงหรือหลุดจากต้น
การแพร่กระจายของเชื้อโดยติดไปกับเมล็ด แล้วแพร่ไปยังต้นกล้าอื่นในแปลงเพาะกล้า ส่วนการเกิดโรคในแปลงเกิดจากต้นกล้าที่ได้รับเชื้อในแปลงเพาะ หรือจากเชื้อที่ตกค้างอยู่ในเศษซากพืชในดิน หรือในพืชอาศัยที่อยู่ในแปลง แล้วแพร่กระจายโดยน้ำฝน หรือน้ำที่ใช้รดต้นพืช เชื้อเข้าสู่พืชทางระบบราก ทางปากใบ ต่อมคายน้ำ หรือทางบาดแผลแล้วกระจายสู่ส่วนต่าง ๆ ทางท่อน้ำ เชื้อแพร่กระจายจากต้นที่เป็นโรคไปยังต้นข้างเคียงโดยไปกับลม ฝน น้ำชลประทาน เป็นต้น
การป้องกันกำจัด
1. เลือกซื้อเมล็ดพันธุ์ที่มีมาตรฐานการผลิต ซึ่งผลิตจากแปลงที่ไม่มีโรคระบาด หรือได้รับการตรวจสอบแล้วว่าปราศจากโรค หากไม่แน่ใจก็ให้ทำการฆ่าเชื้อที่อาจติดมากับเมล็ดเสียก่อนโดยการจุ่มแช่ในน้ำอุ่น ประมาณ
49-50 องศาเซลเซียส. นาน 20-25 นาทีหรือคลุกเมล็ดด้วยสารชีวภัณฑ์ บาซิลลัส ซับทิลิส อัตรา 10 กรัมต่อ เมล็ด 1 กิโลกรัม ก่อนปลูก
2. ไม่ควรปลูกพืชตระกูลกะหล่ำลงในดิน ที่มีการระบาดของโรคอย่างรุนแรงมาก่อนควรเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น หรือพืชหมุนเวียน ที่ไม่ใช้พืชอาศัยของเชื้ออย่างน้อย 2 ปี เพื่อให้เศษซากพืชและเชื้อหมดไปจากดิน
3. กำจัดเศษซากพืช และวัชพืชตระกูลกะหล่ำในแปลงและบริเวณใกล้เคียง
เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยอยู่ข้ามฤดูของเชื้อ และเมื่อเริ่มพบโรคในแปลง ควรถอนและเผาทำลาย
4. ให้พยายามหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี เนื่องจากไม่ได้ผลเท่าที่ควร หากจำเป็นต้องใช้แนะนำให้ใช้สารประกอบทองแดง (คอปเปอร์ ไฮดรอกไซด์ 77% WP อัตรา 15-20 กรัม หรือ คอปเปอร์ ออกซีคลอไรด์ 85% WP อัตรา 20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร) โดยพ่นทุกๆสัปดาห์ในช่วงที่สภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการแพร่ระบาดของโรค คือ เมื่ออุณหภูมิค่อนข้างสูงและความชื้นสูง
5. ควรใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น บาซิลลัส ซับทิลิส อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร อย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการเกิดโรครุนแรง

 






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น