วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2565

เตือนการระบาดโรคราน้ำค้างในโหระพา

โรคราน้ำค้างในโหระพา เชื้อสาเหตุ รา Peronospora sp.



อาการของโรค
เชื้อราสามารถเข้าทำลายโหระพาได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ส่วนมากทำลายที่ใบ โดยใบที่ถูกทำลาย ระยะแรกด้านบนใบเป็นสีเหลือง บริเวณแผลมักจำกัดด้วยเส้นใบบางครั้งเห็นแปลเป็นรูปเหลี่ยม ด้านใต้ใบ บริเวณแผลพบเส้นใยและสปอร์ของเชื้อราสีน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้มปนดำปกคลุมทั่วแผล เมื่อเชื้อราเพิ่มปริมาณมากขึ้นใบจะเหลืองทั้งใบและแห้งตาย โดยเฉพาะในระยะกล้าหรือต้นเล็กจะแห้งตายทั้งต้น
วงจรการเกิดโรคและการแพร่ระบาด
เชื้อราชนิดนี้แพร่กระจายโดยติดไปกับเมล็ดพันธุ์ หรือกระแสลม โดยเมื่อสปอร์แก่จะหลุดออกจาก้านสปอร์ได้ง่ายและลมสามารถพัดพาไปได้ไกล ๆ เมื่อตกลงบนใบหรือส่วนของพืชที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมสปอร์จะงอกและเส้นใยเจริญเข้าไปในเซลล์หรืออยู่ระหว่างเซลล์ในเนื้อเยื่อพืช และสร้างเส้นใยพิเศษสำหรับดูดกินอาหารจากพืช
พืชอาศัย โรคนี้เกิดกับพืชหลายชนิดเช่น โหระพา สระแหน่ กะเพรา แมงลัก มินต์



การป้องกันกำจัด
1. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปลอดโรค โดยไม่ใช้เมล็ดพันธุ์จากแหล่งที่พบการระบาดของโรค
2. จัดการเมล็ดก่อนปลูกโดยการแช่ในน้ำอุ่นอุณหภูมิประมาณ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 20-30 นาที หรือคลุกเมล็ดด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา โดยใช้เชื้อสด อัตรา 10 กรัม (1 ช้อนแกง) ต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม เติมน้ำ10 มิลลิลิตร หรือคลุกเมล็ดด้วยสารเคมี เช่น เมทาแลกซิล
3. ปลูกพืชไม่ถี่หรือมีจํานวนต้นหนาแน่นเกินไป เพื่อให้เกิดการถ่ายเทและระบายอากาศซึ่งจะช่วยลดความชื้นภายในแปลงและต้นพืช
4. การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราเพื่อป้องกันการระบาดและลดความเสียหายจากโรค เช่น กลุ่ม 4 เมตาแลกซิล กลุ่ม 21 ไซยานามิด กลุ่ม 22 อีทาบ๊อกแซม กลุ่ม 40 ไดเมโทมอร์ฟ กลุ่ม P07(33) ฟอสอีทิล อลูมิเนียม, ฟอสฟอนิก เอซิด พ่นทุก 3-5 วัน จนกว่าการระบาดจะลดลง การพ่นกดหัวฉีดให้ต่ำและหงายหัวฉีดสอดเข้าไปใต้ใบไปด้วย เพราะเชื้อราสร้างสปอร์บริเวณใต้ใบ
5. หลังการเก็บเกี่ยวเก็บเศษซากพืชออกจากแปลงให้หมดเพื่อกำจัดแหล่งอาศัยของเชื้อสาเหตุ โดยการเผาหรือเก็บใส่ถุงพลาสติกตากแดดนานหลายวันเพื่อทำลายเชื้อสาเหตุ
ลิ้งค์(คลิก)

เอกสารอ้างอิง
อรพรรณ วิเศษสังข์. 2553. โรคราน้ำค้างในโหระพา. วารสารเคหการเกษตร ปีที่ 34 (พ.ค. 2553) : หน้า 138-141, 150
กลุ่มวิจัยโรคพืช. 2554. โรคราน้ำค้าง: พืชตระกูลแตง (น.60) ผักตระกูลกะหล่ําและตระกูลผักกาด (น.104) ในคู่มือโรคผัก. พิมพ์ครั้งที่ 2. สํานักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช, กรมวิชาการเกษตร. 153 น.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น