วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ข่าวเตือนการระบาด "เพลี้ยไฟ" ในมังคุด

ในช่วงอากาศร้อนแห้งแล้งยาวนานๆ เฝ้าระวังการระบาดของเพลี้ยไฟ ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยทำลายโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของพืชถ้าเป็นใบอ่อนหรือยอดอ่อนทำให้ชะงักการเจริญเติบโต แคระแกรน หงิกงอและใบไหม้ ต้นมังคุดขาดความสมบูรณ์ หากมีการระบาดขณะออกดอกและติดผลอ่อนอาจทำให้ดอกและผลร่วง ผลที่ไม่ร่วงเมื่อมีการพัฒนาโตขึ้นจะเห็นเป็นรอยทำลายชัดเจนเนื่องจากผิวมังคุดมีลักษณะขรุขระที่เรียกว่า "ผิวขี้กลาก"

การป้องกันกำจัด
1.สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ
2.ใช้กับดักกาวเหนียว 60-80 กับดักต่อไร่
3. หากพบเพลี้ยไฟระบาดเล็กน้อยให้ตัดส่วนที่ถูกทำลายและพ่นด้วยเชื้อราบิวเวอร์เรีย 1 ต่อน้ำ 40 ลิตร หรือเชื้อราเมธาไรเซี่ยม 1 ต่อน้ำ 50 ลิตร หรือใช้สารสกัดธรรมชาติ เช่น สารสกัดสะเดา 60 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร
4. การใช้สารเคมีสำรวจการระบาดของเพลี้ยไฟบนใบอ่อน ดอก และผลอ่อน หากพบการระบาด ให้ฉีดพ่นด้วยสารดังนี้
-กลุ่ม 2B ฟิโพรนิล 5% SC 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร
-กลุ่ม 4A อิมิดาโคลพริด 70% WG 3กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออิมิดาโคลพริด 10% SL 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร, อะซีทามิพริด 20% SP 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
-กลุ่ม 5 สไปนีโทแรม 12% SC 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นครั้งแรกก่อนดอกบาน 1 สัปดาห์ เมื่อตรวจพบเพลี้ย ไฟเฉลี่ยมากกว่า 1 ตัว/ดอก และพ่นซ้ำอีก 2 ครั้ง ขณะ ดอกบาน และหลังดอกบาน 1 สัปดาห์ หากยังตรวจพบเพลี้ยไฟมากกว่าหรือเท่ากับ 1 ตัวต่อ 4 ดอก หรือ 1 ตัวต่อยอดหรือผลอ่อน และควรพ่นสารฆ่าแมลงสลับกลุ่มกลไกการออกฤทธิ์ ให้หลีกเลี่ยงการพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่งติดต่อกันหลายครั้ง เพราะจะทำให้เพลี้ยไฟสามารถต้านทานสารฆ่าแมลงได้





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น