ศทอ.สฎ.ติดตามการระบาดศัตรูมะพร้าว
วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 นายปัญจ์ชิเน เชื้อชาญพล นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรจากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุราษฎร์ธานีร่วมกับนายเอกพล ปานกลัด นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการจากสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ติดตามการระบาดศัตรูมะพร้าวของคุณจุไรรัตน์ รักษ์ทอง เกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวที่ตั้งแปลง ตำบลคลองน้อย อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยพบแปลงมะพร้าวนั้นพบการเข้าทำลายของด้วงแรด แมลงดำหนาม โดยได้ให้คำแนะนำในการป้องกันกำจัดพร้อมติดตามอย่างใกล้ชิด
ตัวเต็มวัย บินขึ้นไปกัดเจาะบริเวณโคนทางใบหรือยอดอ่อนของปาล์มหรือมะพร้าว รวมทั้งเจาะทำลายยอดอ่อนที่ยังไม่คลี่ ทำให้ใบที่เกิดใหม่ไม่สมบูรณ์ มีรอยขาดแหว่งเป็นริ้ว ๆ คล้ายรูปสามเหลี่ยม ถ้ารุนแรงจะทำให้ต้นตายได้
คำแนะนำในการป้องกันกำจัดด้วงแรด มีดังนี้
การป้องกันกำจัด
1. การควบคุมโดยวิธีเขตกรรม คือการกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด
โดยยึดหลักปฏิบัติดังนี้
1.1 เผาหรือฝังซากลำต้นหรือตอของมะพร้าว
1.2 เกลี่ยกองซากพืช กองมูลสัตว์ให้กระจายออกโดยมีความสูงไม่เกิน 15 ซม.
1.3 ถ้ามีความจำเป็นต้องกองมูลสัตว์นานเกินกว่า 2-3 เดือน ควรหมั่นพลิกกลับกอง หรือนำใส่ในถุงปุ๋ยผูกปากให้แน่นและนำไปเรียงซ้อนกันไว้
2. การควบคุมโดยวิธีกล หมั่นทำความสะอาดบริเวณคอมะพร้าวหรือปาล์ม ตามโคนทางใบ หากพบรอยแผล เป็นรูใช้เหล็กแหลมแทงหาด้วงแรดเพื่อกำจัดเสีย
3. การควบคุมโดยใช้สารฟีโรโมน ล่อจับตัวเต็มวัย และนำมาทำลาย ฟีโรโมน
เป็นฮอร์โมนเพศจะส่งกลิ่นเฉพาะออกมาดึงดูดด้วงแรดที่เป็นตัวเต็มวัยทั้งเพศผู้และเพศเมียเพื่อมาผสมพันธุ์กัน ( 1 กับดัก/ พื้นที่ 1 ไร่)
4. การใช้ชีววิธี ใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม ใส่ไว้ตามกองขยะ กองปุ๋ยคอก หรือท่อนมะพร้าวที่มีหนอนด้วงแรดมะพร้าวอาศัยอยู่ เกลี่ยเชื้อให้กระจายทั่วกอง เพื่อให้เชื้อมีโอกาสสัมผัสกับตัวหนอนให้มากที่สุด รดน้ำให้ความชื้น หาวัสดุ เช่น ใบมะพร้าวคลุมกองไว้ เพื่อรักษาความชื้นและป้องกันแสงแดด เชื้อจะทำลายด้วงแรดมะพร้าวทุกระยะการเจริญเติบโต
5. การใช้สารเคมี
5.1 ต้นมะพร้าวอายุ 3 - 5 ปี ซึ่งยังไม่สูงมากนัก ใช้ลูกเหม็นใส่บริเวณคอมะพร้าวที่โคนทางใบรอบๆ ยอดอ่อน ทางละ 2 ลูก ต้นละ 6 - 8 ลูก กลิ่นของลูกเหม็นจะไล่ไม่ให้ด้วงแรดมะพร้าวบินเข้าไปทำลายคอมะพร้าว
5.2 ใช้สารฆ่าแมลง
-ไดอะซินอน 60% EC หรือ คาร์โบซัลแฟน 20% EC 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
-อิมิดาโคลพริด หรือ ไทอะมีทอกแซม อัตรา 4-5 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
ราดบริเวณคอมะพร้าวตั้งแต่โคนยอดอ่อนลงมาให้เปียก โดยใช้ปริมาณ 1- 1.5 ลิตรต่อต้น ทุก 15 - 20 วัน ควรใช้ 1 - 2 ครั้ง ในช่วงระบาด
แมลงดำหนามมะพร้าวนั่น ตัวหนอนและตัวเต็มวัยจะซ่อนอยู่กับยอดอ่อนที่เริ่มคลี่ หนอนวัย 1 จะแทะผิวใบด้านในที่ยังพับติดกัน เมื่อใบคลีออกทำให้ใบอ่อนมีรอยไหม้ ตัวเต็มวัยจะกัดทำลายและวางไข่ที่ใบอ่อน ทำให้ปลายใบอ่อนม้วนเป็นที่อาศัยของหนอนอยู่ภายใน ทางศูนย์ได้ให้คำแนะนำโดยการตัดยอดอ่อนที่ยังไม่คลี่ทิ้งแล้วเผาทำลาย เพื่อตัดวงจรชีวิตของแมลงดำหนามมะพร้าว
หากใช้สารเคมีควรใช้ cartap hydrochloride 4% GR อัตรา 30 กรัมต่อต้น ใส่เป็นถุงสีชาติดไว้ที่ยอดอ่อน สำหรับต้นที่สูง 1 เมตรขึ้นไปเพื่อป้องกันการทำลายแมลงดำหนามมะพร้าวได้นาน 1 เดือน ส่วนต้นที่สูง 12 เมตรขึ้นไปได้แนะนำ สารอิมาเม็กตินเบนโซเอต อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อต้น โดยการเจาะมะพร้าวสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร จำนวน 2 รู อยู่ด้านตรงข้ามกัน ลึก 10 เซนติเมตร ใส่สารรูละ 25 มิลลิลิตร แล้วใช้ดินน้ำมันอุดรูทันที วิธีนี้จะป้องกันกำจัดแมลงดำหนามมะพร้าวได้ไม่น้อยกว่า 2 เดือน (วิธีการนี้สามารถป้องกันกำจัดได้ทั้งด้วงแรดมะพร้าว ด้วงงวงมะพร้าว แมลงดำหนามมะพร้าว และหนอนหัวดำมะพร้าว)
ขอขอบคุณ สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น