วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2567 นายสุทธิศักดิ์ ทองโอ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการและนายปัญจ์ชิเน เชื้อชาญพล นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่สำรวจและติดตามการระบาดศัตรูปาล์มน้ำมัน ณ แปลงนายวินัย อยู่สกุล พื้นที่ หมู่ที่ 5 ตำบลลีเล็ด อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบการเข้าทำลายของหนอนหัวดำและยังพบการเข้าทำลายของหนอนปลอกเล็กด้วย
หนอนปลอกเล็ก"(The Case Caterpillar)
รูปร่างลักษณะ >> ตัวเต็มวัยหนอนปลอกเล็กเป็นผีเสื้อกลางคืน ระยะหนอนเป็นระยะที่ทำให้เกิดความเสียหาย โดยหนอนจะเริ่มแทะผิวใบมะพร้าว หรือใบปาล์มน้ำมันผสมกับใยที่ขับออกมาจากปากนำมาสร้างปลอกห่อหุ้มตัวเอง ปลอกมีช่องเปิด 2 ทาง ช่องเปิดด้านบนสำหรับโผล่หัวออกมาแทะกินใบพืช ส่วนด้านล่างสำหรับเป็นช่องขับถ่าย ระยะหนอนใช้เวลาประมาณ 92 - 124 วัน การแพร่กระจายโดยลม
ลักษณะการทำลาย >> หนอนปลอกเล็กจะแทะผิวใบ ทำให้ใบแห้งเป็นสีน้ำตาล และกัดทะลุใบเป็นรูขาดแหว่ง ถ้าเข้าทำลายรุนแรงจะเห็นทางใบทั้งต้นเป็นสีน้ำตาลแห้ง ต้นชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลง หรือไม่ได้ผลผลิต
วิธีการป้องกันกำจัด
-หมั่นสำรวจสวนปาล์มน้ำมันอย่างสม่ำเสมอ
-ตัดทางใบปาล์มน้ำมันที่พบการทำลาย นำไปเผาทำลายเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่พันธุ์
-พ่นด้วยเชื้อบีที (Bacillus thuringiensis) อัตรา 100 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบ 5 มิลลิลิตร พ่นให้ทั่วบริเวณใต้ใบและต้องพ่นในช่วงเย็น พ่นติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ห่างกัน 5 – 7 วัน
-ใช้สารเคมี
พ่นด้วยสารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นทางใบ 1-2 ครั้งห่างกัน 15 วัน ตามคำแนะนำดังนี้
1) ฟลูเบนไดเอไมด์ 20% WG (สารกลุ่ม 28) อัตรา 5 กรัม
2) คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC (สารกลุ่ม 28) อัตรา 20 มิลลิลิตร
3) ลูเฟนนูรอน 5% EC (สารกลุ่ม 15) อัตรา 20 มิลลิลิตร
*** การใช้สารเคมีต้องปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้สารเคมีอย่างเคร่งครัด และต้องสวมชุดและอุปกรณ์ป้องกันตัวเองเพื่อป้องกันอันตราย***
นอกจากนี้ทางศูนย์ยังได้สนับสนุนแตนเบียนบราคอนจำนวน 5000 ตัว และแมลงหางหนีบสีดำมะพร้าว 250 ตัวให้กับเกษตรกรอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น