วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2567 นางชนิดา ตะเภาน้อย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานี และนายปัญจ์ชิเน เชื้อชาญพล นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร
ลงพื้นที่ติดตามการระบาดศัตรูมะพร้าวพบการเข้าทำลายของหนอนหัวดำมะพร้าว ณ แปลงคุณศิริพิชชา พานิชกิจ ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยหนอนหัวดำเข้าทำลายใบมะพร้าว แทะกินผิวใบบริเวณใต้ทางใบ จากนั้นจะถักใยนำมูลที่ถ่ายออกมาผสมกับเส้นใยที่สร้างขึ้นสร้างเป็นอุโมงค์คลุมลำตัวยาวตามทางใบบริเวณใต้ผิวใบ และแทะกินผิวใบ หากการทำลายรุนแรงจะพบว่าหนอนหัวดำมะพร้าวทำลายก้านทางใบ จั่นและผลมะพร้าว ต้นมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำมะพร้าวอาจทำให้ต้นมะพร้าวตายได้
คำแนะนำในการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำ มีดังนี้
1. วิธีเขตกรรมและวิธีกล ตัดใบที่มีหนอนหัวดำมะพร้าวนำไปเผาทำลายทันที ไม่ควรเคลื่อนย้ายต้นพันธุ์มะพร้าวหรือพืชตระกูลปาล์มมาจากแหล่งที่มีการระบาด
2. พ่นด้วยเชื้อบีที (Bacillus thuringiensis) พ่นหนอนที่ฟักออกมาจากไข่ใหม่ จำนวน 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 7 - 10 วัน อัตรา 80 - 100 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมด้วยสารจับใบ อัตราตามคำแนะนำในฉลาก ไม่ควรพ่นในขณะที่มีแสงแดดจัดเพราะจะทำให้เชื้อบีทีอ่อนแอ ควรพ่นช่วงเช้าก่อนเวลา 10.00 น. หรือช่วงเย็นหลังเวลา 16.00 น. และต้องใช้เชื้อบีทีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรแล้วเท่านั้น
3. ปล่อยแตนเบียนบราคอน (Bracon hebetor) เพื่อควบคุมระยะหนอน อัตราไร่ละ 200 ตัว กระจายทั่วทั้งแปลง โดยปล่อย 12 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 15 วัน
4. การใช้สารเคมี
-ใช้สารอีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% EC เข้มข้นโดยไม่ต้องผสมน้ำฉีดเข้าที่ลำต้นมะพร้าว อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น โดยใช้สว่านเจาะรูให้เอียงลงประมาณ 45 องศา จำนวน 2 รูให้ตรงข้ามกัน เจาะรูให้ลึก 10 - 15 เซนติเมตร ตำแหน่งของรูอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร แล้วฉีดสารเคมีรูละ15 มิลลิลิตร ปิดรูด้วย ดินน้ำมัน วิธีนี้จะป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวได้นานมากกว่า 3 เดือน
(วิธีการนี้สามารถป้องกันกำจัดศัตรูชนิดอื่นได้ด้วย เช่น ด้วงแรดมะพร้าว ด้วงงวงมะพร้าว แมลงดำหนามมะพร้าว) ** แนะนำเฉพาะมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร ขึ้นไป
- กรณีมะพร้าวต้นเล็กที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร รวมทั้งมะพร้าวกะทิมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวที่ใช้ทำน้ำตาล ในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง และไม่มีการปล่อยแตนเบียน ให้พ่นทรงพุ่มด้วยสารฟลูเบนไดอะไมด์ 20% WG อัตรา 5 กรัม หรือ คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร หรือ ลูเฟนนูรอน 5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตร (สารนี้มีพิษสูงต่อกุ้ง ไม่ควรใช้บริเวณที่มีการเลี้ยงกุ้ง) โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งตามอัตราที่กำหนดผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วทรงพุ่มบริเวณใต้ใบ 1 - 2 ครั้ง ควรใช้เครื่องยนต์พ่นสารที่สามารถควบคุมแรงดันได้ และมีแรงดันไม่น้อยกว่า 30 บาร์ กรณีที่มีการปล่อยแตนเบียน ให้พ่นสารเคมีก่อน ประมาณ 2 สัปดาห์ ค่อยทำการปล่อยแตนเบียน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น