วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2567

ศทอ.สฎ.ร่วมสำรวจการระบาดศัตรูทุเรียน

วันที่ 4 มิถุนายน 2567 นางชนิดา ตะเภาน้อย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ  และนางสาวนิสิตา เพชรา นักวิชาการส่งเสริมชำนาญการ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ร่วมกับผศ. ดร. พิสิษฐ์ พูลประเสริฐ และนางสาวชิตชนก มาลาวิสุทธิ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ  สำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี สำรวจการระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในพื้นที่อำเภอคีรีรัฐนิคมและอำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยดูจากร่องรอยการเข้าทำลายที่ผลทุเรียนพบการระบาดของหนอนสองชนิดคือหนอนเจาะผลทุเรียน และหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน โดยหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนตัวเต็มวัยวางไข่เป็นฟองเดี่ยวบนผลทุเรียนช่วงที่ผลยังอ่อน จากนั้นตัวหนอนที่เพิ่งฟักจากไข่จะเจาะเข้าไปกัดกินเมล็ดภายในผล การเข้าทำลายจะสังเกตรอยเจาะของหนอนได้ยากเนื่องจากมีขนาดเล็กมากและเปลือกทุเรียนที่กำลังขยายจะปิดรูเจาะของหนอน ทุเรียนที่ถูกทำลายส่วนใหญ่อยู่ในระยะที่เมล็ดแข็งแล้ว การทำลายของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนจะเจาะเข้าไปในเมล็ด กัดกินและถ่ายมูลออกมาทำให้เนื้อทุเรียนเปรอะเปื้อนเสียหาย หนอนอาศัยอยู่ในผลทุเรียนจนกระทั่งผลแก่ เมื่อหนอนโตเต็มที่หรือถ้าผลร่วงก่อนหนอนจะเจาะรูกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ออกมา และเข้าดักแด้ในดิน ส่วนหนอนจาะผลทุเรียนเข้าทำลายทุเรียนเข้าทำลายผลเล็ก อายุประมาณ 2 เดือน จนถึงผลโตเต็มที่พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวทำให้ผลเป็นแผล อาจทำให้ผลเน่าและร่วงเนื่องจากเชื้อราเข้าทำลายซ้ำ ถ้าหากหนอนเจาะกินเข้าไปจนถึงเนื้อผล ทำให้บริเวณดังกล่าวเน่าเมื่อผลสุก ที่บริเวณเปลือกของผลทุเรียนจะสังเกตเห็นมูลและรังของหนอนได้อย่างชัดเจน และจะมีน้ำไหลเยิ้มเมื่อทุเรียนใกล้แก่ ผลทุเรียนที่อยู่ชิดติดกันหนอนจะเข้าทำลายมากกว่าผลที่อยู่เดี่ยวๆ เพราะแม่ผีเสื้อชอบวางไข่บริเวณรอยสัมผัสนี้ ซึ่งแปลงที่พบหนอนเจาะผลทุเรียน เกษตรกรมีการป้องกันกำจัดด้วยการใช้สารเคมี ส่วนแปลงที่พบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนนั้น เกษตรกรเน้นการป้องกันกำจัดด้วยสารสกัดธรรมชาติต่างๆ ไม่มีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัด และยังมีการศึกษาเรื่องการห่อผลทุเรียนเพื่อแก้ปัญหาต่อไป พร้อมทั้งแนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้ 

หนอนเจาะผลทุเรียน การป้องกันป้องกัน

1. หมั่นตรวจดูผลทุเรียน เมื่อพบรอยทำลายของหนอน ให้ใช้ไม้หรือลวดแข็งเขี่ยตัวหนอนออกมาทำลาย

2. ผลทุเรียนที่เน่าและร่วงเพราะถูกหนอนทำลายควรเก็บทำลายโดยการเผาไฟหรือฝัง

3. ตัดแต่งผลทุเรียนที่มีจำนวนมากเกินไป โดยเฉพาะผลที่อยู่ติดกันควรใช้กิ่งไม้หรือกาบมะพร้าวคั่นระหว่างผล เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเต็มวัยวางไข่หรือตัวหนอนเข้าหลบอาศัย

4. การห่อผลด้วยถุงมุ้งไนล่อน ถุงรีเมย์ หรือถุงพลาสติกสีขาวขุ่น เจาะรูที่บริเวณขอบล่างเพื่อให้หยดน้ำระบายออก โดยเริ่มห่อผลตั้งแต่ผลทุเรียนมีอายุ 6 สัปดาห์ เป็นต้นไป จะช่วยลดความเสียหายได้

5. สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพเมื่อจำเป็น

    -แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเฉพาะส่วนผลทุเรียนที่พบการทำลายของหนอนเจาะผล

หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน การป้องกันป้องกัน

1. เกษตรกรไม่ควรขนย้ายเมล็ดทุเรียนจากที่อื่นเข้ามาในแหล่งปลูก ถ้ามีความจำเป็นควรทำการคัดเลือกเมล็ดอย่างระมัดระวัง หรือแช่เมล็ดทุเรียนด้วยสารฆ่าแมลง เช่น มาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์บาริล85% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ก่อนทำการขนย้ายจะช่วยกำจัดหนอนได้

2. การห่อผลระยะยาวโดยใช้ถุงพลาสติกสีขาวขุ่นขนาด 40x75 เซนติเมตร เจาะก้นถุงเพื่อระบายน้ า สามารถป้องกันไม่ให้ตัวเต็มวัยมาวางไข่ได้ โดยเริ่มห่อผลตั้งแต่ผลทุเรียนอายุ 6 สัปดาห์ เป็นต้นไปจนถึงเก็บเกี่ยว ก่อนห่อตรวจสอบผลทุเรียนที่จะห่อให้ปราศจากเพลี้ยแป้ง ถ้ามีให้กำจัดโดยใช้แปรงปัดออก 

3. การป้องกันกำจัดด้วยวิธีผสมผสาน โดยการพ่นสารฆ่าแมลง คาร์บาริล 88% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร ห่างกันครั้งละ 1 สัปดาห์ เริ่มเมื่อผลอายุ 6 สัปดาห์ และห่อด้วยถุงพลาสติกขาวขุ่น ขนาด 40x75 เซนติเมตร เจาะมุมก้นถุงเพื่อระบายน้ำ เมื่อผลอายุ 10 สัปดาห์ โดยเลือกห่อเฉพาะผลที่มีขนาดและรูปทรงได้มาตรฐาน ก่อนห่อผลควรมีการสำรวจเพลี้ยแป้ง และพ่นสารฆ่าแมลงเมื่อพบเพลี้ยแป้งระบาด

4. การใช้กับดักแสงไฟ black light เป็นเครื่องมือตรวจการระบาดของผีเสื้อหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เพื่อให้ทราบว่ามีการระบาดในช่วงไหน สามารถช่วยให้การใช้สารฆ่าแมลงมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดจำนวนการพ่นสารฆ่าแมลงจากที่เกษตรกรนิยมปฏิบัติอยู่ที่พ่นตั้งแต่ทุเรียนเริ่มออกดอก

5. การป้องกันกำจัดโดยใช้สารฆ่าแมลง เมื่อพบว่าตัวเต็มวัยเริ่มระบาดให้ใช้สาร คาร์บาริล 85% WP อัตรา 50 กรัมต่อ น้ำ20 ลิตร หรือ เดลทาเมทริน 3% EC อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ20 ลิตร หรือ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อ น้ำ20 ลิตร หรือ เบตา-ไซฟลูทริน 2.5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ห่างกันครั้งละ 1 สัปดาห์ เริ่มเมื่อผลอายุ 6 สัปดาห์












ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น