วันพุธที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2566

ศทอ.สฎ.สำรวจและติดตามการระบาดศัตรูมะพร้าว

 วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2566 นางชนิดา ตะเภาน้อย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ นายปัญจ์ชิเน เชื้อชาญพล นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรจากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอพุนพิน สำรวจและติดตามการระบาดศัตรูมะพร้าว ณ แปลงนายขจรศักดิ์ เเสงรักษ์ พื้นที่ หมู่ 1 ตำบลลีเล็ด อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากการสำรวจพบการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว ตัวเต็มวัยของหนอนหัวดำมะพร้าวเป็นผีเสื้อกลางคืน เวลากลางวันจะเกาะนิ่งหลบอยู่ใต้ใบมะพร้าว หรือในที่ร่ม ผีเสื้อเพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้เล็กน้อย เพศเมียวางไข่ตัวละประมาณ 200 ฟอง ไข่มีลักษณะกลมรี แบน วางไข่เป็นกลุ่ม ตัวหนอนเมื่อฟักออกจากไข่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ก่อนที่จะย้ายเข้าไปกัดกินใบมะพร้าว การทำลายเกิดในระยะตัวหนอนเท่านั้น โดยตัวหนอนจะถักใยดึงใบมะพร้าวมาเรียงติดกันเป็นแพ และสร้างอุโมงค์เป็นทางยาวอาศัยกัดกินใบอยู่ภายในอุโมงค์ ชอบทำลายใบแก่ เมื่อตัวหนอนโตเต็มที่แล้ว จะถักใยหุ้มลำตัวอีกครั้ง และเข้าดักแด้อยู่ภายในอุโมงค์ มักจะพบหนอนหลายขนาดกัดกินอยู่ในใบมะพร้าวใบเดียวกัน หนอนจะสร้างใยผสมกับมูล ทำเป็นอุโมงค์และอาศัยอยู่ภายในอุโมงค์ ทางศทอ.สฎได้แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้

1. ตัดทางใบมะพร้าวที่ถุกหนอนหัวดำทำลายไปเผา
2. ต้นที่สูง 12 เมตรขึ้นไปได้แนะนำ สาร อีมาเม็กตินเบนโซเอต (1.92% อีซี) อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อต้น โดยการเจาะมะพร้าวสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร จำนวน 2 รู อยู่ด้านตรงข้ามกัน ลึก 10 เซนติเมตร ใส่สารรูละ 25 มิลลิลิตร แล้วใช้ดินน้ำมันอุดรูทันที วิธีนี้จะป้องกันกำจัดแมลงดำหนามมะพร้าวได้ไม่น้อยกว่า 2 เดือน (วิธีการนี้สามารถป้องกันกำจัดได้ทั้งด้วงแรดมะพร้าว ด้วงงวงมะพร้าว แมลงดำหนามมะพร้าว และหนอนหัวดำมะพร้าว)
ส่วนต้นที่สูงน้อยกว่า 12 เมตรนั้น ใช้สารเคมีฉีดพ่นใต้ทางใบให้ทั่ว ได้แก่ ฟลูเบนไดเอไมด์ 20% ดับบลิวจี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร, คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% เอสจี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ,สปินโนแสด 12% เอสจจี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร, ลูเฟนยูรอน 5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
นอกจากนี้ยังพบแมลงดำหนามมะพร้าว โดยแมลงดำหนามมะพร้าวนั่น ตัวหนอนและตัวเต็มวัยจะซ่อนอยู่กับยอดอ่อนที่เริ่มคลี่ หนอนวัย 1 จะแทะผิวใบด้านในที่ยังพับติดกัน เมื่อใบคลีออกทำให้ใบอ่อนมีรอยไหม้ ตัวเต็มวัยจะกัดทำลายและวางไข่ที่ใบอ่อน ทำให้ปลายใบอ่อนม้วนเป็นที่อาศัยของหนอนอยู่ภายใน ทางศูนย์ได้ให้คำแนะนำโดยการตัดยอดอ่อนที่ยังไม่คลี่ทิ้งแล้วเผาทำลาย เพื่อตัดวงจรชีวิตของแมลงดำหนามมะพร้าว
ที่มา : 1. กรมวิชาการเกษตร
2. กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร
https://www.youtube.com/watch?v=Cex36Ih_9lQ คลิปวีดีโอการป้องกันกำจัดแมลงดำหนามมะพร้าว








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น