วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 นางชนิดา ตะเภาน้อย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี และ เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอพุนพิน ลงพื้นที่ติดตามการระบาดศัตรูมะพร้าวของนายอภิญา นะมะ ม.1 ตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากการลงสำรวจพบว่ามีการเข้าทำลายของแมลงดำหนามมะพร้าวและด้วงแรด โดยแมลงดำหนามมะพร้าวนั่น ตัวหนอนและตัวเต็มวัยจะซ่อนอยู่กับยอดอ่อนที่เริ่มคลี่ หนอนวัย 1 จะแทะผิวใบด้านในที่ยังพับติดกัน เมื่อใบคลีออกทำให้ใบอ่อนมีรอยไหม้ ตัวเต็มวัยจะกัดทำลายและวางไข่ที่ใบอ่อน ทำให้ปลายใบอ่อนม้วนเป็นที่อาศัยของหนอนอยู่ภายใน ทางศูนย์ได้ให้คำแนะนำโดยการตัดยอดอ่อนที่ยังไม่คลี่ทิ้งแล้วเผาทำลาย เพื่อตัดวงจรชีวิตของแมลงดำหนามมะพร้าว และแนะนำสารเคมี cartap hydrochloride 4% GR อัตรา 30 กรัมต่อต้น ใส่เป็นถุงสีชาติดไว้ที่ยอดอ่อน สำหรับต้นที่สูง 1 เมตรขึ้นไปเพื่อป้องกันการทำลายแมลงดำหนามมะพร้าวได้นาน 1 เดือน ส่วนต้นที่สูง 12 เมตรขึ้นไปได้แนะนำ สารอิมาเม็กตินเบนโซเอต อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อต้น โดยการเจาะมะพร้าวสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร จำนวน 2 รู อยู่ด้านตรงข้ามกัน ลึก 10 เซนติเมตร ใส่สารรูละ 25 มิลลิลิตร แล้วใช้ดินน้ำมันอุดรูทันที วิธีนี้จะป้องกันกำจัดแมลงดำหนามมะพร้าวได้ไม่น้อยกว่า 2 เดือน (วิธีการนี้สามารถป้องกันกำจัดได้ทั้งด้วงแรดมะพร้าว ด้วงงวงมะพร้าว แมลงดำหนามมะพร้าว และหนอนหัวดำมะพร้าว)
การป้องกันกำจัดด้วงแรด
1. การควบคุมโดยวิธีเขตกรรม คือการกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด ลงทุนน้อย และสะดวกเพราะอยู่บนพื้นดิน สามารถกำจัดไข่ หนอน ดักแด้และตัวเต็มวัย ไม่ให้เพิ่มปริมาณได้ โดยยึดหลักปฏิบัติดังนี้
1.1 เผาหรือฝังซากลำต้นหรือตอของมะพร้าวหรือปาล์มน้ำมัน
1.2 เกลี่ยกองซากพืช กองมูลสัตว์ให้กระจายออกโดยมีความสูงไม่เกิน 15 เซนติเมตร
1.3 ถ้ามีความจำเป็นต้องกองมูลสัตว์นานเกินกว่า 2-3 เดือน ควรหมั่นพลิกกลับกอง หรือนำใส่ในถุงปุ๋ยผูกปากให้แน่นและนำไปเรียงซ้อนกันไว้
2. การควบคุมโดยวิธีกล หมั่นทำความสะอาดบริเวณคอมะพร้าวหรือปาล์มน้ำมัน ตามโคนทางใบ หากพบรอยแผล เป็นรูใช้เหล็กแหลมแทงหาด้วงแรดเพื่อกำจัดเสีย
3. การควบคุมโดยใช้กับดักล่อฟีโรโมนล่อจับตัวเต็มวัย และนำมาทำลาย
4. การควบคุมโดยชีววิธี ใช้เชื้อราเขียวและเชื้อไวรัสช่วยทำลายหนอนและตัวเต็มวัยด้วงแรด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น